เคล็ด(ไม่)ลับ ดูเเลอาการเจ็บคอ

เคล็ด(ไม่)ลับ ดูแลอาการเจ็บคอ

บ่อยครั้งที่หลายคนคิดว่าการรักษาอาการเจ็บคอจะต้องรับประทานยาแก้อักเสบ เพื่อลดอาการอักเสบในลำคอ โดยไม่รู้ว่า “ยาแก้อักเสบ” ที่รับประทานนั้นที่แท้คือยาปฏิชีวนะ ที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ส่งผลให้ไม่มีประโยชน์ในการรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและการแพ้ยาตามมาได้ ดังนั้นการดูแลรักษาอาการเจ็บคอให้ตรงกับสาเหตุ จะช่วยให้หายจากอาการได้อย่างรวดเร็วและปราศจากผลข้างเคียงจากการรักษาได้

การรักษาอาการเจ็บคอนั้น ควรหาสาเหตุที่มีโอกาสทำให้เกิดอาการเจ็บคอและดูแลรักษาให้ตรงจุด โดยมีวิธีการรักษาและการดูแลตนเองดังนี้

  1. การติดเชื้อไวรัส อาการมักจะดีขึ้นได้เองภายใน 5-7 วัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ โดยไม่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น ใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ (เช่นยาอม, สเปรย์พ่นคอ, จิบยาน้ำ) โดยยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการระคายคอภายในลำคอ, ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบหรือเจ็บคอ, ยาลดน้ำมูกหรือแก้แพ้

 

  1. การติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีอาการเจ็บคอนานกว่า 7 วัน มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้ จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ ซึ่งจะต้องรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เช่น ควรรับประทานยาตามระยะเวลาที่กำหนดแม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดหมด เพราะการหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้มีอาการเจ็บคอกลับมาและอาจมีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้
    ในปัจจุบันพบว่ามีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์พ่นในช่องปากและลำคอบางชนิด ที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่พบบ่อยในช่องปากและลำคอได้ และเป็นการออกฤทธิ์เฉพาะที่ จึงสามารถฆ่าเชื้อและไม่ทำให้เกิดการ  ดื้อยาได้ โดยสามารถใช้ได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการเจ็บคอ ระคายคอ และสามารถใช้ควบคู่กับยาปฏิชีวนะได้
  1. อาการเจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การรักษาอาการเจ็บคอเนื่องจากสาเหตุอื่นหรือโรคที่เป็นอยู่ เช่น โรคกรดไหลย้อนที่มีอาการเจ็บคอร่วมด้วย สามารถรักษาที่โรคต้นเหตุโดยรับประทานยายับยั้งการหลั่งกรด หรือการใช้เสียงเยอะจึงก่อให้เกิดการอักเสบ พร้อมทั้งสามารถใช้สเปรย์พ่นในช่องปากและลำคอที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ หรือลดการอักเสบได้ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ ณ ขณะนั้น
    การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บคอคือ ให้ลองสังเกตว่าในช่วงนั้นสาเหตุอะไรที่น่าจะทำให้เราเกิดอาการเจ็บคอ เช่นหากใช้เสียงเยอะอาจเกิดการอักเสบที่ทำให้มีอาการเจ็บคอได้ ก็ควรลดการใช้เสียงเพื่อให้อาการดีขึ้นโดยมีวิธีการดูแลเบื้องต้นหากมีอาการเจ็บคอคือ– ใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่นยาอม สเปรย์พ่นคอ จิบยาน้ำ เป็นต้น– ควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น– ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ และหลีกเลี่ยงการรับประทานของทอด ของมัน อาหารรสจัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณลำคอ พร้อมทั้งรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่– ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่อักเสบอยู่ พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น

    – ควรกลั้วคอบ่อยๆ ด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลืออุ่นๆ

    – ควรล้างมือเป็นประจำ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

    – หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟและบุหรี่

    – หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบาย

    – หลีกเลี่ยงการใช้เสียงชั่วคราว

    – พักผ่อนให้เพียงพอ

    แต่ถ้ามีอาการตามด้านล่าง แนะนำให้พบแพทย์หรือเภสัชกร
    – มีไข้สูง และเจ็บคอมาก
    – มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
    – มีอาการเจ็บคอทุกวันเกิน 1 สัปดาห์
    – คลำได้ก้อนแข็งที่ข้างคอ